ข่าวสาร

ลำไส้อักเสบ...พาร์โวไวรัส

ช่วงนี้มีเคสลำไส้อักเสบเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลค่อนข้างบ่อย คุณหมอจึงอยากจะขอเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบ ว่ามีความเป็นมาอย่างไรทำไมถึงยังเกิดขึ้นได้อีก ทั้งๆที่สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ในบ้านเราก็ทำวัคซีนกันทั้งนั้น


เชื้อพาร์โวไวรัสในสุนัข (canine parvovirus;CPV) เป็นเชื้อที่สำคัญในสุนัขแพร่หลายทั่วโลก เชื้อพาร์โวไวรัสปรากฎขึ้นครั้งแรกในสุนัขในช่วงปลาย ค.ศ. 1970 จากเชื้อไวรัสไข้หัดแมว (feline panleukopenia virus) มีข้อสันนิษฐานว่าสัตว์ป่าที่เป็นที่อาศัย (wildlife host) มีบทบาทปรับแปลงเชื้อพาร์โวไวรัสจากแมวสู่สุนัข


ก่อนอื่นจะเล่าถึงความเป็นมาของเชื้อนี้ก่อนว่าเค้าเป็น DNA virus ที่มีขนาดเล็กมาก แค่ 5.2 Kb เป็นเชื้อที่ไม่มีผนัง และมีความคงทนสูงมาก สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้นานกว่า 5 เดือนขึ้นไป สามารถติดข้ามกัน ยาฆ่าเชื้อธรรมดาอย่างแอลกอฮอล์ ไม่สามารถทำลายเชื้อนี้ได้นะจ๊ะ แนะนำให้ใช้ยาฆ่าเชื้อที่ออกฤทธิ์ oxidizing เช่น กลุ่ม peroxide compound หรือ sodium hypochlorite (เจือจาง 3%) 


ความรุนแรงของเชื้อ หากติดในลูกสัตว์แรกเกิดจะทำให้เสียชีวิตจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ myocarditis  ส่วนใหญ่เสียชีวิตภายในอายุ 4 วัน และมักจะก่อความรุนแรงในลูกสัตว์ช่วงอายุ 6 – 16 สัปดาห์ โดยเฉพาะในพันธุ์ Rottweiler, Doberman Pincher, German shepherd, English springer spaniels ถือเป็นพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ระยะฟักตัวหลังได้รับเชื้ออยู่ที่ 2-7 วัน โดยหลังติดเชื้อ 3-4 วันเชื้อจะเข้าสู่ระบบเลือดและต่อมน้ำเหลือง เข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และสร้างความเสียหายต่อระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรงโดยเข้าไปทำลาย villi ของผนังลำไส้ทำให้เซลล์ตายและเกิดการลอกหลุด แล้วเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ในช่วงนี้ ลูกสุนัขที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อทางอุจจาระได้นาน 2 สัปดาห์ หลังติดเชื้อ


อาการที่พบก็คือ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด ขาดน้ำ อาจมีไข้หรืออุณหภูมิต่ำก็ได้ หากไม่ได้รับการรักษาสุนัขมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 2 วัน 


การวินิจฉัย ที่สะดวกรวดเร็วคือการตรวจ TEST Kit หรือการ ตรวจด้วยวิธี PCR ร่วมกับการตรวจนับเม็ดเลือดขาว เพื่อประเมินความรุนแรงและวางแนวทางการรักษาให้ทันท่วงที


การรักษา เน้นเรื่องการให้สารน้ำและอิเล็ตโตไลท์เพื่อชดเชยในส่วนที่เสียไปและแก้ไขภาวะช็อค ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ให้ยาในกลุ่มที่ลดอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่นยาลดกรด ยาลดอาเจียน ยาแก้ปวดต่างๆ อาจรวมถึงยากระตุ้นภูมิอื่นๆที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และทำให้สัตว์กลับมากินได้ให้เร็วที่สุดเมื่อหยุดอาเจียนแล้ว เพื่อให้ตัว villi กลับมาทำงานอีกครั้ง ซึ่งการรักษาอาการดังกล่าวนี้สัตว์จำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อการจัดการที่เหมาะสมและปลอดภัย


การป้องกัน แนะนำให้ทำวัคซีนตั้งแต่อายุ 6-8 สัปดาห์และกระตุ้นซ้ำ ทุก 4 สัปดาห์ ไปจนอายุครบ 16 สัปดาห์ และกระตุ้นซ้ำทุกปีโดยไม่เกินทุกๆ 3 ปี 


บทความโดย



สัตวแพทย์หญิงศิริลักษณ์ วงษ์ตั้งมั่น
สัตวแพทย์อายุรศาสตร์ฉุกเฉินและสัตว์ป่วยวิกฤต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-953-8085 หรือ Line @vet4


ย้อนกลับ