โรคขี้แมวคืออะไร ? ทำไมทาสแมวจึงต้องระวัง ?

เมื่อไม่นานมานี้ศูนย์วิจัยโรคปรสิต ออกมาเตือนทาสแมว ให้ระวังติดเชื้อโรคขี้แมวขึ้นสมอง หลังพบผู้ป่วยชายรายหนึ่งตรวจเจอโรค Toxoplasmosis ที่เกิดจากติดเชื้อ Toxoplasma gondii หลายๆ คนคง งง ว่าโรคนี้มันคือโรคอะไร มีด้วยเหรอโรคขี้แมว วันนี้จึงอยากอธิบายให้ทาสแมวทั้งหลายได้ทำความรู้จักคร่าวๆ เกี่ยวกับโรคนี้


สาเหตุการเกิดโรค

        โรคติดเชื้อ Toxoplasmosis ซึ่งติดจากเชื้อปรสิตที่เชื่อว่า Toxoplasma gondii จัดเป็น Zoonosis หรือโรคสัตว์สู่คนที่สามารถติดต่อได้เมื่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไม่ว่าจะเป็น เด็ก คนสูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัวได้สัมผัสมูลของสัตว์ตระกูลแมว รับประทานเนื้อดิบน้ำที่ไม่ผ่านการต้มสุก หรือจะเป็นผักผลไม้สดล้างไม่สะอาดที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหลักๆ แล้วเชื้อปรสิตนี้มักอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารของสัตว์ เมื่อสัตว์ถ่ายมูลออกมาจะมีไข่หรือโอโอซีสต์ ของโปรโตซัวชนิดนี้ปนเปื้อนออกมาด้วย

           

                        


อาการ

    - เมื่อร่างกายได้รับเชื้อในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมักมีอาการคล้ายเป็นหวัดเช่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ

    - ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการผิดปกติของระบบประสาทระบบทางเดินหายใจ เช่น ชัก โคม่า หายใจลำบาก ไอแห้งหรืออาจมีปัญหา

       เกี่ยวกับจอประสาทตา ทำให้ปวดตา ตาพร่ามัว  จากการอักเสบของจอตาได้

    - ในหญิงตั้งครรภ์เชื้อสามารถแพร่ไปสู่ทารกในครรภ์ได้ทำให้ เกิดการแท้ง หรือทารกเจริญเติบโตผิดปกติ สูญเสียการมองเห็น การได้ยิน

       และทำให้เกิดการพัฒนาช้าได้

    - ส่วนในแมวอาจพบอาการป่วยได้ในบางครั้ง เช่น มีไข้ ท้องเสีย อาเจียน เบื่ออาหาร เกิดภาวะดีซ่าน และอาจพบอาการทางระบบประสาทได้เช่นกัน      


วิธีการตรวจ

      การตรวจอุจจาระแมวมีโอกาสน้อยมากที่จะเจอ โอโอซีสต์ของโปรโตซัวชนิดนี้ รวมทั้งโอโอซีสต์ของ Toxoplasma มีรูปร่างหน้าตาคล้ายโปโตซัว ชนิดอื่นอีกซึ่งทำให้วินิจฉัยยืนยันได้ยาก ดังนั้นการตรวจทางซีรั่มวิทยาจึงเป็นที่นิยมกว่า


วิธีการรักษา

ในสัตว์ที่ติดเชื้อปรสิตชนิดนี้ สัตวแพทย์มักทำการรักษาตามอาการ ร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเชื้อ ซึ่งจะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะนี้เป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์

 

วิธีการป้องกันการติดโรค

    1.หลีกเลี่ยงการปล่อยแมวออกนอกบ้าน เนื่องจากเพิ่มโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อจากการกินเหยื่อชนิดต่างๆ

    2.คนที่มีความเสี่ยงสูงไม่ควรสัมผัสหรือจัดการกระบะทรายแมว                                                                                             

    3.การจัดอุจจาระแมวจากกระบะเป็นประจำทุกวัน โดยสวมถุงมือ และล้างมือให้สะอาด                                                                    

    4.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ                                                                                                     

    5.ล้างมือก่อนรับประทานอาหารเสมอ


สพ.ญ.ณัฐชยา อนันตะ (หมอเอ๊ะ)

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 (24 ชั่วโมง)
Tel : 02-953-8085
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2

ย้อนกลับ