เจ้าของแมวเหมียวหลายคนอาจเคยประสบปัญหาที่อยู่ๆน้องแมวก็ไม่ยอมฉี่ในกระบะทรายหรือที่ที่จัดไว้ให้ แต่กลับไปฉี่ตามสิ่งของหรือบริเวณต่างๆในบ้าน ก่อนจะดุหรือทำโทษเด็กๆ เรามาทำความเข้าใจและหาสาเหตุที่ทำให้เค้าแสดงพฤติกรรมเหล่านี้กันดีกว่าค่ะ
พฤติกรรมที่น้องแมวฉี่ไม่เป็นที่นั้นสามารถแบ่งสาเหตุออกได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆคือ ปัญหาด้านพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพของเจ้าเหมียวที่แอบซ่อนอยู่ปัญหาด้านพฤติกรรม คือการแสดงออกของพฤติกรรมที่เกิดจากความเครียดหรือการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว อันดับแรกเราต้องแยกก่อนว่าการฉี่ไม่เป็นที่ของแมวนั้นเป็นการขับถ่ายปัสสาวะตามปกติหรือเป็นการสเปรย์ฉี่ (spraying) เพื่อไม่ให้เนื้อหาเยอะเกินไป จึงขอแยกนำนำเสนอเป็นสามส่วนโดยในบทความแรกนี้จะพูดถึงเรื่องปัญหาพฤติกรรมที่แมวยังมีการขับถ่ายปัสสาวะตามปกติกันก่อนค่ะ
การขับถ่ายปัสสาวะตามปกติ มักจะพบว่าแมวสามารถฉี่ได้ตามท่าทางปกติทุกอย่างแต่ไม่ยอมฉี่บนกระบะทรายหรือที่ที่เค้าเคยฉี่ ฉี่ที่พบจะมีลักษณะใส สีเหลืองอ่อน มีปริมาณมาก และมักพบการข่วนพื้นเพื่อพยายามฝังกลบสิ่งขับถ่ายตามปกติที่เคยทำ โดยสามารถเกิดได้จาก 2 สาเหตุ นั่นคือ
1.การจัดการกระบะทรายไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกใจเจ้าเหมียว
โดยธรรมชาติแล้วแมวจะชอบขับถ่ายในที่ที่สะอาด สงบและมีความเป็นส่วนตัว ดังนั้นการจัดการของกระบะทรายที่ไม่ดีย่อมส่งผลให้น้องแมวไม่อยากเข้าไปใช้กระบะนั้นได้ ตัวอย่างเช่น กระบะทรายมีลักษณะที่แมวไม่ชอบหรือรู้สึกไม่ปลอดภัย จำนวนของกระบะทรายไม่เพียงพอ ขนาดกระบะที่เล็กเกินไป กระบะที่เพิ่งซื้อมาใหม่ทำให้ไม่คุ้นเคย และกระบะที่สกปรกหรือมีกลิ่นจากสิ่งขับถ่ายแมวตัวอื่น ที่หลายคนอาจคิดไม่ถึงคือการจัดวางกระบะในตำแหน่งที่แมวไม่ชอบหรือรู้สึกไม่เป็นส่วนตัวก็ทำให้เด็กๆไม่อยากเข้าไปใช้กระบะได้เช่นกัน เช่นบริเวณที่มีเสียงดัง, บริเวณที่มีสิ่งกระตุ้นจากคนหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แม้กระทั่งตำแหน่งที่เคยเกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีหรือความเจ็บปวดมาก่อนก็สามารถทำให้เค้าไม่อยากกลับไปขับถ่ายบริเวณนั้นอีก
2.สาเหตุจากสภาวะทางจิตใจ
หากเราจัดการกระบะทรายได้ดีและเหมาะสมอยู่แล้วแต่ยังพบปัญหาฉี่แบบนี้อยู่ อาจเป็นไปได้ว่าน้องแมวของเราอาจจะมีปัญหาความเครียดหรือความกลัวอยู่ โดยกรณีที่พบได้บ่อยคือแมวที่เจ้าของไม่ค่อยอยู่บ้าน จะพบว่าแมวชอบฉี่ใส่สิ่งของต่างๆของเจ้าของ เช่นเสื้อผ้า กระเป๋าหรือรองเท้า โดยมักจะฉี่แบบนี้เมื่อไม่เจอเจ้าของนานมากกว่า 12 ชั่วโมงหรือทันทีที่เจ้าของกลับมาถึงบ้าน ส่วนในกรณีที่แมวกลัวนั้นมักพบฉี่ในที่ที่เค้าชอบไปซ่อนตัว เพราะกลัวที่จะออกไปฉี่ในกระบะตามปกตินั่นเอง
วิธีการการแก้ไข
การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดที่สุดคือการหาสาเหตุให้พบและปรับปรุงให้เหมาะสม หากเป็นปัญหาจากพื้นที่ที่เจ้าเหมียวใช้ในการขับถ่าย ลองปรับการจัดการกระทรายตามคำแนะนำต่อไปนี้กันดูค่ะ
1. ลักษณะ: ปัจจุบันมีกระบะทรายและห้องส้วมแมวผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบมาก ซึ่งข้อนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับความชอบของแมวแต่ละตัวแล้ว ที่ควรคำนึงคือเป็นรูปแบบที่แมวสามารถเข้าใช้งานได้อย่างสะดวก ทางเข้าไม่ควรเล็กเกินไป และจากผลการวิจัยในต่างประเทศพบว่าแมวที่ถูกเลี้ยงรวมกันหลายตัวมักชอบใช้กระบะทรายแบบ Open-air มากกว่า
2. ขนาด: ปกติขนาดของกระบะจะขึ้นกับขนาดของตัวแมว วิธีสังเกตง่ายๆคือแมวสามารถเข้าไปธุระและฝังกลบได้โดยที่ไม่ต้องก้าวขาใดขานึงออกมานอกกระบะ ที่แนะนำควรยาวอย่างน้อยเท่ากับความยาวของตัวแมว (วัดถึงปลายหางขณะยืดหางจนสุด) ซึ่งบางท่านที่เคยพบว่ามีอึหรือฉี่ออกมาข้างๆกระบะ อาจเป็นสัญญาณจากเจ้าเหมียวที่กำลังบอกว่ากระบะนี้เล็กเกินไปสำหรับเขาแล้วก็ได้
3. จำนวน: ควรเท่ากับจำนวนน้องแมว +1 เช่น บ้านที่เลี้ยงแมว4ตัว ควรมีกระบะทราย 5 กระบะ เป็นต้น
4. ตำแหน่งการจัดวาง: ควรเป็นบริเวณที่แมวใช้ชีวิตอยู่ตามปกติในทุกวัน แต่ควรเงียบและเป็นส่วนตัวซักหน่อย เช่นใต้เตียง ใต้โต๊ะหรือหรือหลังเฟอร์นิเจอร์ ไม่ควรวางใกล้หน้าต่างที่มีรถหรือคนผ่านไปมา ใกล้ชามน้ำ-อาหาร รวมไปถึงใกล้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่มีเสียงดังหรือมีการเคลื่อนไหว ที่สำคัญคือหากต้องการย้ายกระบะไปที่ใหม่ ไม่ควรย้ายเลยทันที ค่อยๆเลื่อนวันละนิดให้เค้ามีเวลาปรับตัวกับห้องน้ำที่ใหม่จะดีกว่า
6. ความสะอาด: ควรดูแลให้กระบะสะอาดอยู่เสมอ เก็บทรายที่เปียกฉี่และอึอย่างน้อยวันละครั้ง เปลี่ยนทรายและล้างทำความสะอาดกระบะโดยใช้สบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือนหรือตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ของเสียและกลิ่นสะสม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งแมวและผู้เลี้ยงได้
7. ทรายแมว: สิ่งสำคัญคือเลือกใช้ทรายถูกใจเจ้าเหมียวของเรา ปัจจุบันมีหลายชนิดและหลากหลายกลิ่นให้เลือก สิ่งที่ต้องคำนึงคือทรายต้องไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งแมวและคน และต้องไม่ลืมดูแลเรื่องความสะอาดและความหนาของทรายให้เหมาะกับการขับถ่ายของแมวด้วย
ในกรณีที่เป็นปัญหาจากความเครียดนั้นต้องกลับมาปรับทั้งตัวผู้เลี้ยงและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้น้องแมวผ่อนคลายขึ้น เริ่มจากการใช้เวลาด้วยกันมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหรือการเล่นกับเค้า หาของเล่นหลายแบบสลับกันนำมาเล่น รวมไปถึงการปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับพฤติกรรมตามธรรมชาติ เช่นมีที่ให้ปีนป่าย ให้ฝนเล็บและมีหน้าต่างให้เค้ามองวิวภายนอกบ้าง บางคนอาจเลือกใช้ฟีโรโมนสังเคราะห์ของแมวเพื่อเป็นตัวช่วยในการลดความเครียดในน้องแมวก็ได้เหมือนกัน สำหรับปัญหาเรื่องความกลัวนั้นต้องหาให้เจอว่าเจ้าเหมียวกลัวอะไร จากนั้นจึงค่อยๆสร้างความคุ้นเคยของเค้าต่อสิ่งนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งนั้นจะไม่เป็นอันตรายกับอย่างแน่นอน หากยังไม่ได้ผลอาจจะจำเป็นต้องแยกไม่ให้เจอสิ่งนั้นก่อนสักระยะหนึ่ง
แต่หากเจ้าเหมียวของเรามีพฤติกรรมการขับถ่ายไม่เหมือนกับที่ได้กล่าวไปข้างต้นล่ะจะทำอย่างไร!? มาติดตามในตอนต่อไปเรื่องพฤติกรรมการสเปรย์ฉี่และปัญหาสุขภาพที่ทำให้แมวฉี่ไม่เป็นที่กันค่ะ สุดท้ายนี้ถ้าหากจัดการแก้ไขตามคำแนะนำทุกอย่างแล้วน้องแมวยังฉี่เรี่ยราดอยู่ หรือแสดงอาการผิดปกติจากเดิมมากยิ่งขึ้นควรรีบพามาตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้วางแผนการจัดการและรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
ย้อนกลับ