หลังจากตอนที่ 1 ที่เราได้เรียนรู้ถึงการจัดการพฤติกรรมการฉี่ไม่เป็นที่จากกระบะทรายที่ไม่เหมาะสมและความเครียดกันไปแล้ว
แต่ถ้าน้องแมวของเราไม่ได้ฉี่แบบปกติกันล่ะ
มาดูว่าน้องแมวกำลังสเปรย์ฉี่อยู่หรือเปล่า และทำไมเค้าถึงต้องทำแบบนั้น
การสเปรย์ฉี่
เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่แมวจะพ่นฉี่ตามสิ่งของหรือบริเวณต่างๆ เพื่อแสดงอาณาเขต
เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อเพศตรงข้ามในช่วงเป็นสัดหรือเมื่อเกิดความเครียดหรือวิตกกังวล ดังนั้นส่วนใหญ่มักพบในแมวที่เลี้ยงรวมกันหลายตัว
แมวตัวผู้ที่ยังไม่ทำหมันและแมวตัวผู้ที่เลี้ยงรวมกับตัวเมีย
แต่สามารถพบในแมวตัวเมียหรือแมวที่ทำหมันแล้วได้เช่นกัน
ลักษณะอาการที่พบ
1. ส่วนใหญ่แมวจะสเปรย์ฉี่ในท่ายืน
แต่อาจพบในท่าฉี่ปกติได้เช่นกัน
2. มักพบฉี่เป็นกองเล็ก
ปริมาณน้อยกว่าการขับถ่ายปกติ
3. มักฉี่บนสิ่งของต่างๆหรือผนังในแนวตั้ง
ส่วนน้อยที่จะเห็นฉี่บนพื้นตามปกติ
4. มักไม่เห็นพฤติกรรมการข่วนกลบหลังฉี่เสร็จเหมือนการขับถ่ายปกติ
สาเหตุโน้มนำ
1. ปัจจัยจากฮอร์โมน
ส่งผลให้พบการสเปรย์ฉี่ในแมวที่ยังไม่ทำหมันมากกว่าแมวที่ทำหมันแล้ว
และพบในแมวตัวผู้มากกว่าตัวเมีย
การแสดงอาณาเขต
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่ชอบ, สิ่งที่เคยสร้างความเจ็บปวด
หรือสถานการณ์ที่ถูกกระตุ้นให้เจ้าเหมียวโกรธหรือตื่นเต้นมากๆ
2. ความเครียดหรือกังวลใจ
จากการไม่ได้เจอเจ้าของ การถูกแยกจากแมวที่เคยอยู่ร่วมกัน
การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเช่น การย้ายบ้าน หรือการมีสมาชิกใหม่เข้ามาในบ้าน
3. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม
แมวสามารถรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆได้ค่อนข้างเร็ว เช่นภาพ
เสียงหรือกลิ่นของแมวตัวอื่น ถึงแม้จะแมวตัวนั้นจะอยู่นอกบ้านก็ตาม
4. ความเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพ
มีรายงานว่า 30% ของแมวที่แสดงพฤติกรรมสเปรย์ฉี่มักมีปัญหาสุขภาพที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว
เช่น โรคไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคนิ่ว และติดเชื้อไวรัส
การแก้ไข
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแก้ปัญหาพฤติกรรมนั้นอาจจะไม่สามารถทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นหมดไปเลย
100% แต่เราสามารถจัดการและแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดย..
1. การทำหมัน
เพื่อลดอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ส่งผลต่อการแสดงพฤติกรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมวตัวผู้
2. การพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจประเมินปัญหาสุขภาพ
เพื่อจะได้รักษาได้ตรงจุดและทันท่วงที
3. การกำจัดหรือลดสาเหตุที่อาจทำให้แมวเครียด
เช่น การให้เวลาและความเอาใจใส่ ถ้าเป็นไปได้อาจจะลองปรับให้กิจกรรมที่ทำกับเค้ามีตารางเวลาที่แน่นอนในแต่ละวัน
เช่นเวลานี้เล่น หรือเวลานี้จะให้อาหาร เป็นต้น
4. การปรับสิ่งแวดล้อม
ข้อนี้จริงๆแล้วในทางปฏิบัติทำได้ค่อนข้างยาก
เราคงห้ามไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆในบ้านเลยไม่ได้ แต่อาจจะลองค่อยๆปรับไปวันละนิดวันละหน่อย
เช่น ให้เวลาเค้าค่อยๆทำความรู้จักกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่, ปิดม่านหรือหน้าต่างเพื่อป้องกันการเผชิญกับสิ่งกระตุ้นทางเพศหรือสิ่งเร้าต่างๆนอกบ้าน
ส่วนเรื่องของการย้ายที่อยู่
หรือมีสมาชิกใหม่ในบ้านนั้นการใช้ฟีโรโมนสังเคราะห์อาจเป็นตัวช่วยในการลดความเครียดได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับตอนที่สองนี้
คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของแมวหลายท่านที่กำลังประสบปัญหาน้องแมวสเปรย์ฉี่อยู่
และอย่าลืมติดตามตอนสุดท้าย
ในเรื่องของปัญหาสุขภาพที่ทำให้เจ้าเหมียวฉี่ไม่เป็นที่กันค่ะ
มาดูไปพร้อมกันว่าแมวของเรามีพฤติกรรมอะไรที่บ่งบอกถึงโรคร้ายที่ซ่อนอยู่กันหรือเปล่า
บทความโดย
สัตวแพทย์หญิงกุสินรา สัตยานุกูล (หมอแตงกวา)
สัตวแพทย์อายุรกรรม
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-953-8085-6 หรือ Line @vet4