ข่าวสาร

ทำไมเจ้าเหมียวฉี่ไม่เป็นที่? ตอนที่ 3 : ปัญหาสุขภาพ

เมื่ออยู่ ๆ น้องแมวก็ฉี่ไม่เป็นที่ สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยคือปัญหาความเจ็บป่วยทางร่างกายของเค้า ที่ส่งผลให้พฤติกรรมการขับถ่ายปัสสาวะผิดปกติไป ตัวอย่างเช่น


1. ภาวะหรือโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะปัสสาวะ ทำให้น้องแมวไม่สามารถเบ่งฉี่ หรือฉี่ให้หมดกระเพาะปัสสาวะได้ในครั้งเดียว ซึ่งนอกจากจะฉี่เรี่ยราดแล้ว พบ ว่าแมวอาจจะเบ่งฉี่นาน, ฉี่บ่อยขึ้นแต่ฉี่ออกมาน้อยโก่งตัวหรือร้องขณะฉี่ และอาจพบฉี่เป็นสีแดงได้

2. ภาวะที่ไม่สามารถควบคุมการฉี่ได้ (Urinary incontinent) มักพบปัสสาวะเป็นหยดๆ หรือเป็นกองเล็กๆตามบริเวณต่างๆในบ้าน บางครั้งพบว่าแมวมีฉี่ไหลออกมาขณะนอนหลับด้วย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการบาดเจ็บหรือการกระทบกระแทก ที่ทำให้เกิดความเสียหายของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะและระบบประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะ หรืออาจจากเนื้องอกที่ไขสันหลังก็ได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยเพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

3. ภาวะที่มีการสร้างฉี่มากขึ้น มักเกิดจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น ไตวาย โรคตับ โรคเบาหวาน และภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น โดยอาการที่พบจะแตกต่างจากสองข้อข้างต้น เนื่องจากมักพบว่าแมวจะฉี่เป็นปริมาณมากโดยไม่แสดงอาการเจ็บปวดใดๆ ร่วมกับการกินน้ำที่มากขึ้นด้วย ภาวะนี้ก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจและรักษาจากสัตวแพทย์เช่นกัน

 



           

ตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่มักตรวจพบในแมวที่แสดงอาการผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะคือ กลุ่มอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายปัสสาวะส่วนล่างในแมว (FLUTD: Feline lower urinary tract disease) เป็นกลุ่มอาการที่สามารถพบได้บ่อย โดยมักพบในแมวที่มีอายุระหว่าง 2-6 ปีแมวที่กินแต่อาหารเม็ด กินน้ำน้อยแมวอ้วนแมวที่ไม่ค่อยออกกำลังกายและแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้ว


อาการที่พบได้คือ


· ฉี่ไม่เป็นที่ หรือฉี่นอกกระบะทราย

· ทำท่านั่งฉี่บ่อยและนานกว่าปกติ

· ฉี่ไม่ออกหรือฉี่มีปริมาณน้อย ร่วมกับช่องท้องที่ดูขยายใหญ่ขึ้น

· ฉี่ลำบากหรือปวดเบ่ง จะเห็นว่าแมวมีอาการกระวนกระวายและแสดงความเจ็บปวดโดยอาจส่งเสียงร้องขณะฉี่หรือหลังจากฉี่เสร็จ

· สีของฉี่ที่พบอาจมีสีชาหรือแดง จากเลือดที่ปนออกมาด้วย

· แมวบางตัวจะเลียอวัยเพศบ่อยกว่าปกติ


โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อและอักเสบของกระเพาะปัสสาวะการบาดเจ็บเสียหายของอวัยวะในทางเดินปัสสาวะหรือระบบประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะ เช่น การถูกรถชนหรือตกจากที่สูงการเกิดเนื้องอก,ท้องผูก และการอุดตันของทางเดินปัสสาวะทั้งจากนิ่ว ปลั๊ก( Uretral plug) และการตีบแคบของท่อปัสสาวะ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุดังกล่าว เพราะหากไม่สามารถหาสาเหตุและรักษาได้ตรงจุด แมวมีโอกาสกลับมาฉี่ไม่ออกหรือแสดงความผิดปกติของการขับถ่ายปัสสาวะได้อีก


เมื่อพาเจ้าเหมียวไปพบสัตวแพทย์ คุณหมอจะตรวจร่างกายเบื้องต้น ตรวจเลือดและอาจจะจำเป็นต้องเก็บปัสสาวะไปตรวจรวมถึงเพาะหาเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคด้วย เพื่อจะได้วางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสม น้องแมวบางตัวจำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่นการเอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและประเมินความรุนแรงของโรค


สำหรับการจัดการและการรักษานั้นหากแมวฉี่ไม่ออกโดยพบกระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่เป็นอย่างมากนั้นถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบช่วยชีวิตและนำเอาปัสสาวะออกมาให้ได้เร็วที่สุด ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่นการแตกของกระเพาะปัสสาวะ การติดเชื้อ และภาวะไตวาย จากนั้นจึงทำการรักษาตามสาเหตุที่เราพบ โดยหากเกิดจากการอุดตันของนิ่วอาจใช้อาหารที่ช่วยสลายนิ่วหรือการผ่าตัดเพื่อเอานิ่วออก หากเกิดจากการติดเชื้อต้องให้การรักษาทางยาปฎิชีวะที่ไวต่อเชื้อที่เราพบโดยอ้างอิงจากผลการเพาะเชื้อ บางกรณีอาจจำเป็นทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขให้แมวกลับมาขับถ่ายได้เองอีกครั้ง ส่วนในกรณีที่เกิดอักเสบของกระเพาะปัสสาวะโดยไม่ทราบสาเหตุนั้น มักจะไม่พบการติดเชื้อ มีการศึกษาว่าอาจจะมีสาเหตุโน้มนำจากความเครียดของตัวแมวเอง ในการรักษาและป้องกัน อันดับแรกควรเริ่มจากลดความเครียดของเจ้าเหมียวก่อน (เคยเขียนไว้แล้วในตอนที่1) จากนั้นจึงปรับการจัดการทั้งบริเวณที่ขับถ่าย ความสะอาดของกระบะ ปรับเพิ่มอาหารเปียกให้แมวได้รับน้ำจากอาหารมากขึ้น และมีน้ำสะอาดให้น้องเหมียวได้ดื่มอย่างเพียงพอ หากไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องให้การรักษาทางยาเพื่อลดความเจ็บปวดและช่วยคลายให้ความเครียดลดลง

 

บทความโดย




สัตวแพทย์หญิงกุสินรา สัตยานุกูล(หมอแตงกวา)

สัตวแพทย์อายุรกรรม

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร 02-953-8085-6 หรือ Line @vet4

 

ย้อนกลับ