“พยาธิเม็ดเลือด” ในสัตว์เลี้ยงรู้ไวรักษาได้ทัน


“พยาธิเม็ดเลือด” หลายคนที่เลี้ยงน้องหมา / น้องแมว มานานน่าจะเคยได้ยินคำๆนี้กันมาบ้างนะครับ วันนี้ลองมาดูกันว่าจนถึงวันนี้ เราเข้าใจความหมายของคำๆนี้กันดีแล้วหรือยัง



“พยาธิเม็ดเลือด” พูดง่ายๆคือกลุ่มเชื้อโรคที่แอบอยู่ในเลือดข้องน้องหมา / น้องแมว และก่อโรค กลุ่มเชื้อโรคพวกนี้มีทั้งที่เป็นแบคทีเรียและไม่ใช่ (บางชนิดเป็นโปรโตซัว)
แต่ละชนิดจะแอบอยู่ในเม็ดเลือดต่างชนิดกัน (เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือด) การก่อโรคอาจเหมือนหรือคล้ายๆกัน

หมายเหตุ : รูปทั้งหมดเป็นภาพเชื้อจริงจากน้องหมาที่เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลครับ


พวกมันมาได้ยังไง ? ส่วนใหญ่ติดต่อจากปรสิตภายนอก โดยเฉพาะเห็บและหมัดครับ “โดยการกัดดูดเลือด”เห็บหรือหมัดที่มีเชื้อปริมาณมาก
การกัดเพียงครั้งเดียวก็สามารถส่งเชื้อให้น้องหมา / น้องแมวได้แล้วครับ

บางท่านบอก ไม่เคยเจอเห็บตามตัวเลย แล้วเป็นได้อย่างไร > บางครั้งการเดินออกไปนอกบ้าน เจอเห็บหนึ่งตัว (ที่เรามองไม่เห็น)
ก็ป่วยได้ตามตัวอย่างสมมติข้างต้นเลยครับ

บางท่านบอก ป้องกันเห็บหมัดด้วยยาตลอด แล้วเป็นได้อย่างไร > เห็บหมัดจะได้รับยาเข้าไปต่อเมื่อกัดครับ ซึ่งก็เป็นช่องทางเดียวกับการได้รับเชื้อ
ยาดีทำให้เห็บหมัดกัดครู่เดียวแล้วตายก็ลดโอกาสการได้รับเชื้อได้มากครับ แต่การป้องกัน 100% โดยยาอย่างเดียวอาจเป็นไปได้ยากครับ


สังเกตอาการเหล่านี้ให้ดีครับ นอกจาก “ซึม” ถ้าสงสัยให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ได้เลยครับ
หมายเหตุ : อย่ารอให้ตัวหรือให้เหงือกเหลืองนะครับ มันจะไม่ทันเอานะ !


พยาธิเม็ดเลือดสามารถรักษาให้หายได้ครับ (แต่รายละเอียดอาจต้องคุยกันไปตามกรณีครับ จึงไม่ขอลงรายละเอียดการรักษาไว้) และแม้ผมจะบอกว่า
ป้องกันเห็บหมัดด้วยยาตลอดก็ยังป่วยได้ แต่การป้องกันด้วยยาก็ยังจำเป็นครับ หากใช้ยาแล้วมีโอกาสป่วย 0.1%กับไม่ใช้ยาแล้วมีโอกาสป่วย 10%
มันก็ต่างกัน 100 เท่าเลย เห็นภาพใช่มั้ยครับ

นอกจากยา การดูแลความสะอาดก็สำคัญครับ เห็บสามารถแอบตามที่อับชื้นในบ้านได้ ดังนั้นอย่าเสี่ยงปล่อยให้พวกนี้แอบอยู่ครับ
ต้องทำบ้านให้สะอาด สิ่งเหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพยาป้องกันและลดโอกาสป่วยได้อีก



ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ “มีคุณภาพ” และ “ราคาไม่แพง” ให้เลือกเยอะครับ จะ “หยด” จะ “กิน” ก็ได้หมดตามสไตล์คุณเจ้าของได้เลย

และส่วนใหญ่หาซื้อไม่ยากครับ ตามคลินิกหรือโรงพยาบาลก็แทบจะไม่มีที่ไหนไม่มีครับ ปรึกษาและเลือกยาที่สัตวแพทย์แนะนำ

เพื่อความปลอดภัยของน้องหมา / น้องแมวของพวกเราเองครับ


บทความโดย

น.สพ.ณัฐภัทร รุจจนเวท (หมอปั๊ป)

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4

สอบถามข้อมูลเพิ่มติมโทร 02-953-8085 หรือ Line @vet4


ย้อนกลับ