หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทคืออะไร??
โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นร่างกายมนุษย์ หรือในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง จะมีหมอนรองกระดูกทำหน้าที่ลดแรงกระแทกของกระดูกสันหลังแต่ละท่อน แต่ในสัตว์ที่มีสายพันธุ์ที่มีสายพันธุ์โน้มนำของโรค หรือสัตว์ที่มีอายุมากขึ้น จะมีความเสื่อมของหมอนรองกระดูกเกิดขึ้น จนในบางรายอาจเกิดความผิดปกติในรูปแบบของการที่ตัวหมอนรองกระดูกยื่นออกไปกดทับเส้นประสาทที่สำคัญต่อการเคลื่อนไหวและการทำงานของร่างกาย จนอาจกลายเป็นสัตว์ป่วยอัมพาตได้ ซึ่งเส้นประสาทที่เราพูดถึงกันนี้ ก็คือไขสันหลังนั่นเองค่ะ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าน้องหมาของเรามีภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
??
อาการของโรคนี้เป็นได้หลายระดับ
ตั้งแต่ แค่แสดงอาการเจ็บปวดมากกว่าปกติเช่น ปวดคอ คอตก เอี้ยวคอไม่ได้ ปวดหลัง
แค่เรา
ไปสัมผัสเบาๆที่หลังของเขาก็ทำให้เขาเสียวสันหลังวูบ
จนร้องเอ๋งๆ
หรือในบางรายหนักจนไปถึงเป็นอัมพาตเดินไม่ได้จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็มีเหมือนกันค่ะ
ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นกับระดับของการที่ตัวหมอนรองกระดูกนั้นเคลื่อนไปทับไขสันหลังมากน้อยขนาดไหน
ถ้าเป็นแล้วจะหายได้หรือไม่??
ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระดับของการเป็นอัมพาต
ซึ่งอัมพาตในสัตว์แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้
ระดับ 1 :
มีอาการเจ็บปวดมากกว่าปกติ แค่หันคอก็ปวด จับหลังก็ปวด
แต่สัตว์ยังสามารถเดินได้ปกติ
ระดับ 2 : เพิ่มเติมจากระดับ 1
คือสัตว์เริ่มเดินเซ เดินลากขา แต่ยังสามารถเดินได้
ระดับ 3 :
ระดับนี้สัตว์จะเดินไม่ได้แล้ว แต่ยังสามารถควบคุมการขับถ่าย ได้เป็นปกติ
ระดับ 4 : เดินไม่ได้
และไม่สามารถปัสสาวะหรืออุจจาระเองได้เลย
ระดับ 5 :
สัตวไม่มีความรู้สึกของปลายประสาทของขาเลย
ถึงแม้ว่าจะทดสอบโดยการทำให้เกิดความเจ็บปวดอย่างรุนแรง
ยิ่งมีระดับของการอัมพาตที่สูงยิ่งขึ้น
โอกาสที่จะกลับมาหายเป็นปกติก็ยิ่งมีน้อยลงค่ะ บางตัวเป็นระดับ 1-2
แค่เพียงทานยาก็อาจหายเป็นปกติได้ แต่บางตัวเป็นระดับที่สูงขึ้นไป เช่น ระดับ 3-5
การรักษาทางยาอาจไม่เพียงพอ อาจต้องพึ่งการผ่าตัดเพื่อลดการกดทับของไขสันหลัง
ร่วมกับการทานยาและการทำกายภาพบำบัด ซึ่งยิ่งเป็นระดับที่สูงขึ้นโอกาสการกลับมาหายเป็นปกติก็ยิ่งมีน้อยลง
และขึ้นอยู่กับสัตว์แต่ละตัวและระยะเวลาที่ได้เกิดภาวะอัมพาตขึ้นมาแล้วค่ะ
ทั้งนี้
ไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆหากเจ้าของสามารถสังเกตความผิดปกติของน้องหมาได้อย่างรวดเร็ว
และได้ดำเนินการรักษาอย่างว่องไว โอกาสที่น้องหมาของเราจะหายจากโรคและได้กลับมาเดินเล่นร่าเริงได้ปกติ
ก็ยิ่งมีมากขึ้นค่ะ
ด้วยความห่วงใยจาก โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 ค่ะ
บทความโดย
สพ.ญ.ภณิดา เมฆโสภาวรรณกุล (หมอออย)
สัตวแพทย์คลินิกอายุรกรรม
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
Tel : 02-953-8085-6
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2