อันตรายจากภาวะต่อมหมวกไตทำงานมากผิดปกติ

ภาวะต่อมหมวกไตทำงานมากกว่าปกติ (Hyperadrenocorticism) หรือที่เรียกว่า Cushing’s disease



            เจ้าของสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะ สุนัข เคยสังเกตุไหม ว่า อยู่ๆ น้องหมามีอาการขนร่วง ท้องกาง เหนื่อยและอ่อนเพลีย ทานน้ำเก่ง ฉี่บ่อย และร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้หากไม่มียาในการรักษา บางครั้งการพาไปตรวจเลือดเช็คสุขภาพทั่วไปอาจไม่สามารถค้นพบโรคนี้ เนื่องจากการวินิจฉัยต้องดูจากอาการและค่าการตรวจทางฮอร์โมนที่จำเพาะร่วมกัน 


            ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการที่ต่อมหมวกไต (adrenal gland) มีการผลิตและหลั่งฮอร์โมนในกลุ่มกลูโคคอติคอยด์ (glucocorticoid) ออกมามากกว่าปกติ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อว่า สเตียรอยด์ (steroid) ซึ่งอาจแบ่งสาเหตุความผิดปกติเป็น 2 ชนิด คือ

1.ความผิดปกติที่ต่อมหมวกไตเอง เช่น เกิดเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (adrenal tumor)

2.ความผิดปกติที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้า (anterior pituitary gland) ที่สร้างและหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการทำงานของต่อมหมวกไตอีกขั้นหนึ่งออกมามากกว่าปกติ 


            ความผิดปกติชนิดนี้พบได้ในสุนัขมากกว่าแมว พบได้ในสุนัขทุกเพศและทุกสายพันธุ์


            พันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ พันธุ์พุดเดิ้ล ลาบราดอร์ อัลเซเชียน ดัชชุน และบีเกิล โดยสุนัขเพศเมียมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคชนิดนี้มากกว่าเพศผู้

           นอกจากนี้ โรคที่เกิดจากความผิดปกติในตัวสุนัขแล้ว  ยังอาจเกิดจากการใช้สารสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เช่น กรณีรักษาโรคผิวหนังบางชนิด  หรือการให้ยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น  ทำให้สุนัขอ้วนมากขึ้น ช่องท้องกาง และเห็นผิวหนังที่ท้องบางลง ทำให้เห็นเส้นเลือดที่บริเวณท้องชัดเจนมากขึ้น และสุนัขบางตัวได้รับสเตีรอยด์นานๆ โน้มนำให้เกิดโรคขี้เรื้อนขุมขน ได้ด้วย จึงอยากให้เจ้าของสุนัขสังเกตุและระมัดระวังผลข้างเคียงที่กล่าวนี้ด้วย



         


รูปแสดงตำแหน่งของต่อมหมวกไตในสุนัข


          อาการที่มักพบบ่อยๆ คือ สุนัขที่ป่วยมักมีอาการกินน้ำมาก ปัสสาวะมาก กินอาหารเก่ง ช่องท้องขยายใหญ่ ผิวหนังบางเห็นเส้นเลือดชัดเจน ขนร่วง กล้ามเนื้อลีบ เหนื่อยง่ายและอ่อนแรง  การตรวจวินิจฉัยทำได้โดย การตรวจวัดระดับฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติซัล (cortisol) ในปัสสาวะหรือในกระแสเลือดมีปริมาณสูงกว่าปกติ โดยการตรวจที่เฉพาะเจาะจงต่อการทำงานของต่อมหมวกไต ร่วมกับการทำอัลตราซาวด์ช่องท้องวัดขนาดของต่อมหมวกไตทั้งสองข้าง ซึ่งสุนัขจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยที่แน่นอนก่อนการรักษา โดยเฉพาะกับสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญทางด้านฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะเป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิต


     


            การรักษา จุดประสงค์หลัก คือเพื่อลดอาการทางคลินิคที่เกิดจากฮอร์โมนมากผิดปกติ ไม่ใช่การรักษาให้หายจากโรคนี้

            ดังนั้นการทานยาที่มีผลลดการสร้างฮอร์โมนชนิดนี้จากต่อมหมวกไตชั้นนอก ซึ่งจะต้องทานต่อเนื่องตลอดชีวิต และจะต้องมีการตรวจวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซัลเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกดการทำงานของต่อมหมวกไตมากเกินไปจนเกิดภาวะต่อม หมวกไตทำงานน้อยกว่าปกติ (hypoadrenocorticism) การรักษาโดยการให้ยากินจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่แนะนำการผ่าตัดเว้นแต่ในรายที่ได้วินิจฉัยแน่นอนว่าเกิดจากเนื้องอกที่ต่อมหมวกไตเท่านั้น


            ในปัจจุบันยาที่ใช้รักษาที่ได้ผลดี มี 2 ชนิดที่สัตวแพทย์จะตัดสินใจในการใช้ยา ทั้งนี้ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของสัตวแพทย์ในการออกฤทธิ์ของยาและความสามารถของเจ้าของ เนื่องจากเป็นยาที่รักษามีราคาแพง และยังไม่สามารถซื้อได้ทั่วไปในประเทศไทย จึงถือเป็นยาควบคุมในการใช้การรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์

1. Lysodren (Mitotane) ยาตัวนี้จะไปทำลายต่อมหมวกไตชั้นนอกให้ฝ่อไป แต่ต้องควบคุมปริมาณยาไม่ให้มากเกินไปจนทำให้ต่อมหมวกไตฝ่อถาวร ต้องมีการตรวจเลือดหลังเริ่มรักษาเป็นระยะ ยาตัวนี้ค่อนข้างอันตรายและต้องดูแลใกล้ชิด ผลข้างเคียงสูง ในปัจจุบันการใช้ยาตัวนี้จึงลดลง

2. Trilostane (Vetoryl) ค่อนข้างปลอดภัยกว่า Lysodren โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ dehydrogenase 3 - beta – hydroxysteroid มีผลลดการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซัล โดยไม่ได้ไปทำลายต่อมหมวกไตแบบยาตัวแรก แค่ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน ยาตัวนี้จึงนิยมใช้ในปัจจุบันมากกว่า


                 


บทความโดย


น.สพ.พีรสุทธิ์ เพียรพิจิตร (หมอเอด)

คลินิกโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจ

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 (VET4)
Tel : 02-953-8085
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2

ย้อนกลับ