ภาวะช็อคจากความร้อนสูงเกิดขึ้นเมื่อสัตว์มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 106-109 องศาฟาเรนไฮด์ ซึ่งภาวะนี้พบมากในสุนัขอ้วนหรือมีปัญหาตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนต้น และสุนัขพันธุ์หน้าสั้น โดยภาวะนี้จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อส่วนต่างๆในร่างกาย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะ heat stroke
1. การปล่อยสุนัขวิ่งเล่นในบริเวณที่มีอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน
2. สุนัขที่ถูกขังในบริเวณที่อากาศไม่ไหลเวียน ตากแดด ไม่มีน้ำดื่มเพียงพอ
3. การถูกเป่าขนด้วยไดร์เป่าขนความร้อนสูง
ความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อสัตว์เกิดภาวะ heat stroke
1. ไต: อุณภูมิที่สูงมีผลโดยตรงต่อ renal tubular epithelium และมีผลโดยอ้อมคือการลดลงของปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงไต
ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะไตวาย
2. ทางเดินอาหาร: อุณภูมิที่สูงมีผลโดยตรงต่อทางเดินอาหารและลำไส้ โดยมักทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นถูกทำลายและเกิดเป็นเนื้อตาย
ส่งผลให้สัตว์เกิดภาวะท้องเสียและอาเจียนเป็นเลือดได้
3. สมอง: อาจพบภาวะสมองบวมน้ำและเนื้อสมองตายเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ผนังเส้นเลือด (cerebral vascular endothelium)
ถูกทำลายโดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงกว่า 109 องศาฟาเรนไฮด์เป็นเวลานานอาจทำให้เซลล์ประสาทถูกทำลายอย่างถาวร ส่งผลให้เกิดภาวะ coma
และเกิดภาวะสมองถูกทำลายอย่างถาวร (permanent brain damage) ตามมา
4. ตับและหัวใจ: อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เซลล์ตับและกล้ามเนื้อหัวใจตาย
อาการของ heat stroke
อาการเริ่มแรกของ heat strokeคือ สัตว์หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อาเจียน ท้องเสีย มีภาวะขาดน้ำ หากไม่ได้รับการแก้ไขทันทีอาการจะมีความรุนแรงขึ้นโดยสัตว์จะมีภาวะหายใจลำบาก เยื่อเมือกสีม่วงคล้ำ เกิดจุดเลือดออก (petechial hemorrhages) เป็นลม (collapse) ชัก เสียการทรงตัว ปัสสาวะน้อย ท้องเสียเป็นเลือด และอาเจียนเป็นเลือด เหงือกที่เคยมีสีแดงเข้มอาจเริ่มมีสีซีดหรือซีดอมเทา ชีพจรอ่อน อุณหภูมิที่เคยสูงขึ้นอาจลดต่ำลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ และอาจพบอาการทางประสาทได้ เช่น ชัก และเสียชีวิตในที่สุด
การรักษา
1. การลดอุณหภูมิร่างกาย ด้วยการเช็ดตัว อาบน้ำ หรือสเปรย์ด้วยน้ำเย็น และอาจเป่าด้วยพัดลมเพื่อช่วยในการระเหยของความร้อน
ในกรณีที่อุณหภูมิสูงมากอาจทำการสวนทวารหนักด้วยน้ำเย็น แต่การสวนส่งผลให้ไม่สามารถวัดอุณหภูมิร่างกายทางทวารหนักได้
*ในการลดอุณหภูมิไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือน้ำที่เย็นจัดเพราะจะทำให้เส้นเลือดส่วนปลายหดตัว และสุนัขเกิดอาการสั่น ซึ่งจะไปชะลอกระบวนการลดความร้อนของร่างกาย
2. เมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงถึง 103 องศาฟาเรนไฮด์ ให้หยุดเช็ดตัว แล้วหมั่นวัดอุณหภูมิสุนัขทุกๆ 10นาทีในอีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา
โดยอุณหภูมิร่างกายอาจจะยังคงลดต่ำลงเรื่อยๆจนถึงระดับต่ำกว่าปกติหรือเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติได้อีก
3. ให้สารน้ำพวก crystalloid fluids ทางเส้นเลือดแบบ bolus ในขนาด 20-30 ml/kg
4. ในกรณีที่มีความดันเลือดต่ำมากควรให้ hetastarch ขนาด 5-10 ml/kg ควบคู่กับ crystalloid fluids
5. ถ้าพบอาการของ DIC ให้ทำ plasma transfusion ขนาด 10-20 ml/kg/d
การพยากรณ์โรค
ภาวะนี้มีอัตราการตาย (mortality rate) เท่ากับ 50% โดยปัจจัยที่ทำให้การพยากรณ์ของโรคแย่ลงได้แก่
1. เมื่อพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)
2. เมื่อค่า PT และ PTT ยาวนานขึ้น
3. เมื่อ serum creatinine มากกว่า 1.5 mg/dl หลังจาก 24 ชั่วโมงของการรักษา
4. เมื่อพบการชัก สุนัขอ้วน หรือได้รับการรักษาช้า (สัตว์มีอาการมาแล้วมากกว่า 90 นาที)
การพยากรณ์โรคโดยทั่วไปขึ้นกับ ระยะเวลาที่สุนัขมีอุณหภูมิสูง ความรุนแรงของความเสียหายของอวัยวะต่างๆ และการตอบสนองต่อการรักษา
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4