ข่าวสาร

ภาวะไส้เลื่อนข้างก้น (Perineal hernia)

น้องกะทิ สุนัขพันธุ์ ชิวาวา เพศผู้ ทำหมันแล้ว อายุ 10 ปี

            มาพบหมอด้วยอาการปวดเกร็งช่องท้องเวลาเบ่งอุจจาระ และปัสสาวะลำบาก โดยพบก้อนปูดบวมนิ่ม บริเวณข้างก้นด้านซ้าย เมื่อทำการตรวจวินิจฉัย พบว่าเกิดจากปัญหาภาวะไส้เลื่อนข้างก้น (Perineal hernia) มีอวัยวะภายในช่องท้อง ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ เคลื่อนออกมาบริเวณใต้ผิวหนังข้างก้นทางด้านซ้าย 

                                                                                   

 

ภาพที่ 1 ภาพ X-RAY ด้านท้ายตัวเพื่อตรวจอวัยวะภายในช่องท้อง


            จากภาพ X-RAY ช่องท้องท้ายตัว พบว่ามีลำไส้และกระเพาะปัสสาวะไหลย้อนเข้าไปในถุงไส้เลื่อน จึงยืนยันการวินิจฉัยการเกิด ไส้เลื่อนข้างก้น (perineal hernia) โดยการรักษาไส้เลื่อนข้างก้นคือการผ่าตัดแก้ไข แต่เนื่องจากน้องกะทิ มีโรคประจำตัวคือ โรคหัวใจ และเป็นพยาธิเม็ดเลือดร่วมด้วย คุณหมอทำการรักษาน้องกะทิให้สภาพร่างกายและค่าเลือดพร้อมสำหรับการวางยาผ่าตัดแก้ไข ภาวะไส้เลื่อนข้างก้น และในระหว่างการรอการผ่าตัด ต้องเฝ้าระวังการปวดเบ่ง และการจัดการอาหารไม่ให้อุจจาระแข็งจนเกินไป โดยถ้ามีอาการปวดเบ่งรุนแรงแล้วไม่มีอุจจาระออกมา ให้มาพบหมอโดยด่วน 

เมื่อร่างกายพร้อมสำหรับการผ่าตัด น้องกะทิได้รับการดูแลขณะสลบกับคุณหมอจ๊ะเอ๋ คุณหมอได้ทำการ ให้ยาชาเฉพาะที่ (Epidural nerve block) กับน้องกะทิ เพื่อลดความเจ็บปวด และใช้ยาสลบน้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัยของน้องกะทิ 



ภาพที่ 2 การให้ยาชาเฉพาะที่ แบบการฉีดเข้าสันหลังช่วงท้าย (Epidural nerve block)

            จากนั้นน้องกะทิได้รับการผ่าตัดแก้ไข ภาวะไส้เลื่อนข้างก้น (Perineal hernia) กับคุณหมอก๊อต คุณหมอได้ใส่ตาข่ายสังเคราะห์ (Surgical mesh) เพื่อเสริมความแข็งแรงบริเวณข้างก้น และลดการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ ให้กับน้องกะทิ



ภาพที่ 3 ภาพก่อนการผ่าตัดไส้เลื่อนข้างก้นด้านซ้าย

            การผ่าตัดผ่านไปได้อย่างเรียบร้อย และสมบูรณ์ น้องกะทิ กลับมาขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะได้อย่างปกติอีกครั้ง

           #สาเหตุภาวะไส้เลื่อนข้างก้น (Perineal hernia): กล้ามเนื้อผนังเชิงกรานมีการหย่อนตัวหรือฝ่อลีบ โดยสาเหตุการเกิดไส้เลื่อน มีปัจจัยมาจากหลายปัญหาประกอบกัน ต้องหาสาเหตุเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนข้างก้น พร้อมกับต้องแก้ไขปัญหาเหนื่ยวนำ ดังกล่าวไปพร้อมกัน  ปัญหาการเกิดไส้เลื่อนฝีเย็บมักเกิดขึ้นกับสุนัขเพศผู้ที่เข้าสู่วัยชรา หรือเกิดกับสุนัขทุกเพศทุกวัยที่มีปัญหาการปวดเบ่งอย่างรุนแรงเรื้อรัง เมื่อพบสุนัขของท่านมีปัญหาการปวดเบ่งรุนแรง เรื้อรังอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านเพื่อหาสาเหตุ อย่าปล่อยไว้จนเกิดปัญหาที่รุนแรง



โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 (VET4 Surgery Center)
อ.น.สพ.วิจิตร สุทธิประภา (หมอก๊อต)
สพ.ญ.สุนิสา เถาว์มูล (หมอเฟิร์น)
สพ.ญ.ณัฏฐิกา โกฎแสง (หมอจ๊ะเอ๋)


ย้อนกลับ