เนื่องด้วยลักษณะและนิสัยของสุนัขส่วนใหญ่ที่มีความอยากรู้อยากเล่น ในบางครั้งจึงอาจไปแหย่เล่นสัตว์ที่มีพิษใกล้ๆ ตัวและอันตราย ที่อาศัยอยู่ตามซอกชายคา กองไม้ กระถางต้นไม้และกอหญ้าได้ เช่น งูเขียวหางไหม้ นั้นเอง ดังนั้นจึงควรรู้พิษเบื้องต้น และการจัดการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นค่ะ
งูเขียวหางไหม้ มีพิษต่อระบบโลหิต โดยจะมีผลต่อ clotting factors ทำให้เกิดอาการเลือดแข็งตัวช้า หรือไม่แข็งตัว ซึ่งงูที่มีพิษต่อระบบโลหิต ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และกลุ่มงูเขียวหางไหม้ ซึ่งกลุ่มงูเขียวหางไหม้ จะมีผลทำลาย factor I (fibrinogen) ทำให้มีระดับ fibrinogen ในเลือดต่ำและเกิดภาวะเลือดออกตามมาได้
อาการส่วนใหญ่มักเป็นอาการเฉพาะที่ โดยบริเวณผิวหนังที่ถูกกัดจะมีอาการบวม ปวด ร้อน สุนัขจะแสดงอาการเจ็บเป็นระยะเวลาหลายวัน กรณีที่อาการรุนแรงสามารถทำให้เกิดเลือดออกในอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ตา ทางเดินอาหาร ทำให้อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดสด ชั้นใต้ผิวหนังทำให้เกิดจุดหรือปื้นเลือดออกตามตัว
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนนำมาพบสัตวแพทย์ ควรทำความสะอาดบริเวณบาดแผลโดยใช้น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือล้างแผล ไม่ควรทำการขันชะเนาะ ไม่ควรบีบหรือกรีดแผลให้เลือดออกมากขึ้น ไม่ควรดูดพิษจากบาดแผล เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะและเกิดบาดแผลมากขึ้นได้ ควรสังเกตและจดจำลักษณะหรือถ่ายภาพของงูตัวนั้น และควรรีบนำสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ที่โรงพยาบาลสัตว์เพื่อรับเซรุ่มทันที
สพ.ญ.นันทิชา ยกทอง (หมออัญ)
ย้อนกลับ