โรคหอบหืดในแมว (Feline Asthma)

โรคหอบหืดในแมว (Feline Asthma) หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า feline allergic bronchitis เป็นกลุ่มโรคการอักเสบที่ผิดปกติของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หรือปอดนั่นเอง เกิดจากปฎิกิริยาภูมิไวเกินชนิดที่ 1 (Hypersensitivity type I )  ส่งผลให้ผนังหลอดลมเกิดการหดตัวและการไหลเวียนของอากาศทำได้ไม่ดี 


โดยสรุปผลจากปฎิกิริยาภูมิไวเกินนี้ จะทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil สูงขึ้นและมีการหลั่งสารการอักเสบต่างๆเข้ามายังผนังหลอดลมและถุงลมในปริมาณมาก ทำให้เกิดสิ่งคัดหลั่งเหนียวข้น หลอดลมเกิดการหดตัว ผนังกล้ามเนื้อเรียบหดเกร็ง จึงทำให้แมวแสดงอาการไอ หายใจลำบาก 


สารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่สามารถก่อให้เกิดปฎิกิริยาภูมิไวเกิน มีได้หลากหลาย อาทิเช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ เกสรดอกไม้ ทรายแมว หรือสารเคมีบางชนิดที่ระเหยได้ เป็นต้น เกิดได้ทุกช่วงอายุ ทุกเพศทุกวัย โดยลักษณะอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของโรค แมวบางตัวแสดงอาการเป็นพักๆ เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหายเองได้ บางตัวเป็นตามฤดูกาล หรือบางตัวอาจแสดงอาการรุนแรงมากในครั้งแรกหากปฎิกิริยาภูมิแพ้นั้นก่อให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงทั่วทั้งปอด 


                                                          


    การวินิจฉัย 

1. สังเกตุลักษณะอาการ เช่น หายใจลำบาก ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ เสียงหายใจออกมีเสียงหวีด (wheeze)
    ซึ่งเจ้าของบางท่านอาจสับสนระหว่างอาการไอ และอาการขย้อนก้อนขน 
2. ตรวจเลือด ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด อาจพบปริมาณเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophil
    สูงได้ในบางราย และมีภาวะโปรตีนในกระแสเลือดที่สูงกว่าปกติ 
3. X-ray ช่องอก เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและลักษณะการอักเสบของหลอดลมฝอยและถุงลม
4. การทำ bronchoalveolar lavage หรือทำ endotracheal wash analysis สามารถทำได้แต่ต้องผ่านกระบวนการวางยาสลบ การวินิจฉัยด้วยวิธีนี้
    สามารถทำร่วมกับการทำเพาะเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีที่แมวไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือมีอาการค่อนข้างมาก โดยอาจสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ
    แบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย เชื้อที่สามารถพบได้บ่อย เช่นกลุ่มแบคทีเรีย mycoplasma เป็นต้น  

    การรักษาแยกเป็น 2 กลุ่ม 

1. กลุ่มที่มาด้วยภาวะฉุกเฉิน หายใจลำบาก อ้าปาก กลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาโดยทันที ด้วยการให้ยาขยายหลอดลม ยาลดการอักเสบหรือเสตียรอยด์
    รูปแบบฉีดที่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที ให้ร่วมกับการดมยาหรือพ่นยาในกลุ่มยาขยายหลอดลม และการให้ออกซิเจนจนกว่าสัตว์จะหายใจได้ดีขึ้น 

2. กลุ่มที่มีอาการไม่มาก เป็นๆหายๆ กลุ่มนี้สามารถใช้ยากินร่วมกับการพ่นยาเป็นพักๆได้ โดยส่วนใหญ่แมวจะตอบสนองต่อการรักษาดี ใช้ชีวิตได้ปกติ
    แต่อาจมีอาการกำเริบได้ตามฤดูกาล ดังนั้นการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้แพ้จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาโรคนี้แต่ความเป็นจริงนั้นสามารถทำได้ยาก 

บทความโดย


สพ.ญ.มนัสนันท์ สังข์พิทักษ์ (หมอจอย)

สัตวแพทย์คลินิกโรคแมว

โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
Tel : 02-953-8085
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2


ย้อนกลับ