ยาพาราเซตามอล ( Paracetamol ) หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ อะเซตามิโนเฟน ( Acetaminophen) เป็นยาแก้ปวดที่นิยมใช้ในคน หาซื้อง่าย ราคาถูก แต่รู้หรือไม่ว่า มีพิษต่อน้องแมวถึงแก่ชีวิตได้!!
ในแมวโตที่มีน้ำหนักประมาณ 4 - 5 กิโลกรัม การป้อนยาพาราเพียงแค่ครึ่งเม็ดก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากแมวขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยา ไม่สามารถขจัดยาดังกล่าวออกจากร่างกายทางตับได้ ทำให้เกิดการสะสมสารที่เป็นพิษในร่างกายแล้วยังแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปทำลายเม็ดเลือดแดงและเซลล์ตับ เนื่องจากหน้าที่ของตับโดยตรงคือการขจัดสิ่งที่มีพิษออกจากร่างกาย และเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงของแมวไวต่อการเกิดพิษจากยานี้เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงจนกระทั่งเกิดเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้ร่างกายไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้
น้องแมวที่ได้รับยาพาราเซตามอลไปจะมีอาการอย่างไร ?
อาการเริ่มแรก คือ อาเจียน น้ำลายยืด หลังจากนั้นประมาณ 1-4 ชั่วโมงเม็ดเลือดแดงจะถูกทำลาย แมวจะแสดงอาการเด่นชัดขึ้นคือ หน้าบวม เหงือกเริ่มมีสีม่วงคล้ำ หายใจหอบ ใบหน้า ฝ่าเท้า ขา บวมมากขึ้น สีเหงือกจะเปลี่ยนเป็นซีดเหลือง ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อๆหรือสีช็อกโกแลต เนื่องจากการถูกทำลายของเม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้แมวแสดงอาการหายใจลำบาก เนื่องจากการนำออกซิเจนโดยเม็ดเลือดแดงเข้าสู่เซลล์น้อยลง ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่อวัยวะสำคัญ เช่นปอด หัวใจ ไม่เพียงพอ ทำให้กดการหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด ภายใน 18-36 ชั่วโมง
รักษาเบื้องต้น อย่างไร ?
ทำให้แมวอาเจียน หากแมวเพิ่งทานยาไปไม่เกิน 4-6 ชั่วโมง และป้อน Activated Charcoal (ยาผงถ่าน) เพื่อลดการดูดซึมตัวยาพาราเซตามอลเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นรีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยการรักษาพิษจากยาพาราเซตามอล จะเน้นไปที่การให้ยาต้านพิษ และการรักษาตามอาการ การใช้ยาถอนพิษนั้น สัตวแพทย์ไม่สามารถยืนยันผลการตอบสนองของยา เพราะพิษของยาจะทำลายตับและการสร้างเม็ดเลือดแดงของน้องแมวอย่างรุนแรง
น้องแมวจะรอดหรือไม่?
อัตราการรอดชีวิตในแมวต่ำมาก แต่ในรายที่โชคดี พบว่า มักมีอาการดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง และมีโอกาสรอดชีวิตสูง โดยมักไม่พบผลกระทบจากยาตัวนี้ในระยะยาวเมื่อน้องแมวหายป่วยแล้ว ดังนั้น หากเจ้าของเริ่มรู้สึกว่าน้องแมวของเราซึมลง เบื่ออาหาร ตัวร้อน มีไข้ ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ใกล้บ้าน ไม่ควรรอช้า และไม่หายาแก้ไข้มาป้อนเองนะคะ
บทความโดย
สพ.ญ.นลิน จิลลานนท์ (หมอใบเฟริ์น)
สัตวแพทย์คลินิกโรคแมว
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4
Tel : 02-953-8085-6
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2