“เห็ด” เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่ขึ้นตามแหล่งธรรมชาติ มีทั้งชนิดที่รับประทานได้และรับประทานไม่ได้ โดยทั่วไปแล้วเห็ดที่รับประทานได้เป็นแหล่งวิตามินบี และประกอบด้วยแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น โพแทสเซียม, ซีลีเนียม, ฟอสฟอรัสและทองแดง แต่ก็มีเห็ดบางชนิดที่ไม่ปลอดภัย เช่น พวกเห็ดป่า เห็ดพิษ
อย่างไรก็ตาม การทานเห็ดก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก โดยเฉพาะเห็ดดิบ นอกจากจะทำให้อาหารในกระเพาะไม่ย่อยแล้ว ยังส่งผลเสียต่ออวัยวะในระบบขับถ่ายอื่น ๆ อีกด้วย นอกจากนี้หากให้สุนัขกินเห็ด สุนัขก็จะเคยชินกับกลิ่นของเห็ด และหากสุนัขได้กลิ่นเห็ดเมื่อออกนอกบ้าน มันก็อาจเผลอกินเห็ดมีพิษได้
สุนัขกินเห็ดมีอาการอะไร?
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- น้ำลายไหลเยอะ
- ซึม
- เดินเซ กล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กัน
- ดีซ่าน และ ตับวาย
- ชัก
- เสียชีวิต
เห็ดพิษที่เป็นอันตรายต่อสุนัขสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
1. เห็ดที่เป็นพิษต่อตับ
Amanita phalloides (เห็ดระโงกหิน) เป็นเห็ดพิษที่คล้ายเห็ดชนิดที่กินได้หลายชนิด (เช่น เห็ดฟาง)
Amanita ocreata
Lepiota (เห็ดหัวกรวดครีบเขียว)
Galerina
2. เห็ดที่มีฤทธิ์หลอนประสาท
Gymnopilus (เห็ดขอนสีทองเกล็ดแดง)
Psilocybe (เห็ดขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ) เป็นเห็ดที่มีฤทธิ์กับระบบประสาท มีขึ้นอยู่ตามกองมูลควายแห้ง
Amanita pantherina ชื่อพื้นเมือง เห็ดเกล็ดดาว
3. เห็ดที่ทำให้เกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร
เห็ดสกุล Gyromitra ทั้งหมด ในประเทศไทยมีรายงาน อยู่ 1 ชนิด คือ Gyromitra esculenta ชื่อพื้นเมือง เห็ดสมองวัว
การรักษาเมื่อสุนัขได้รับพิษจากเห็ด
ในภาวะฉุกเฉินที่สุนัขเผลอกินเห็ดเหล่านี้ต้องรีบนำสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน แพทย์จะจะเริ่มทำการรักษาเริ่มจากจากการป้อนถ่าน (Activated Charcoal) เพื่อจับสารพิษที่อยู่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ และสุนัขจะได้รับสารน้ำเพื่อช่วยขับสารพิษออกทางปัสสาวะ หรือถูกกระตุ้นให้อาเจียนเพื่อเป็นการช่วยขับสารพิษออกทางปาก
การดูแลหลังการรักษา
สุนัขที่ได้รับการรักษานั้นอย่างทันที มักจะมีอาการที่ดี โดยเฉพาะหากได้รับการล้างท้องหลังจากที่กินเข้าไปไม่นาน แต่ก็ขึ้นกับชนิดและปริมาณของเห็ดที่รับประทาน
นอกจากนั้น บางทีแม้ว่าขับสารพิษออกไปแล้ว แต่สารพิษบางส่วนที่ดูดซึมไปก่อนหน้านี้ อาจมีผลต่อตับและไตตามมาทีหลังได้ ดังนั้นสัตวแพทย์จึงมักจะต้องติดตามการทำงานของตับและไตทุก ๆ 24-48 ชั่วโมง และหากเจ้าของพบเห็นอาการผิดปกติควรรีบแจ้งสัตวแพทย์
บทความโดย
น.สพ.พีรสุทธิ์ เพียรพิจิตร (หมอเอด)
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 ( 24 ชั่วโมง )
Tel : 02-953-8085-6
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2