น้องแกงส้ม สุนัข พันธุ์ Poodle อายุ 8 ปี เพศเมีย น้ำหนัก 5 kg
มาโรงพยาบาลสัตว์ด้วยอาการ ซึม อ่อนแรง ไม่กิน อาเจียน เคยมีประวัติเป็นพยาธิเม็ดเลือดมาตั้งแต่ช่วงกลางปีก่อนและได้รับการรักษาโดยการกินยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือด Doxycycline จนครบคอร์สแล้ว หลังจากนั้นเริ่มมีค่าเอนไซม์ตับ ALT ขึ้นเรื่อยมา จนมาแสดงอาการดังที่กล่าวไป เบื้องต้นจากการตรวจร่างกายพบสุนัขมีอาการอ่อนแรง แต่ยังตอบสนองได้อยู่ เยื่อเมือกเริ่มซีดและเหลืองเล็กน้อย มีเสียงลิ้นหัวใจรั่วในระดับเบา เสียงปอดปกติ คลำช่องท้องพบมีอาการปวดเกร็งเล็กน้อย จากนั้นได้ตรวจค่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ค่าตับ ถุงน้ำดี ไต โปรตีนในเลือด อิเล็กโทรไลต์ และค่าระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังได้ส่องกล้องดูเม็ดเลือดแดงทันที พบว่ามีภาวะเม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกันจากภาวะภูมิคุ้มกันทำลายเม็ดเลือด มีค่าเม็ดเลือดแดงต่ำ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดค่อนต่ำ ค่าตับและถุงน้ำดีขึ้นสูง และมีภาวะตับอ่อนอักเสบแทรกซ้อน เบื้องต้นได้แอดมิทเพื่อติดตามอาการและรักษาภาวะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม และเจาะเลือดทุก 12 ชั่วโมง เพื่อประเมินสภาวะการทำลายเม็ดเลือดแดง รวมถึงสวนปัสสาวะเพื่อวัดการทำงานของไตและสังเกตลักษณะสีปัสสาวะ
ในวันถัดมาพบค่าเม็ดเลือดแดงยังคงถูกทำลายต่อเนื่องจนค่าต่ำลงไปอีก จึงได้ประสานและดำเนินการถ่ายเลือด โดยใช้เม็ดเลือดแดงอัดแน่น แบ่งถ่าย 2 ถุง ตามค่าเม็ดเลือดแดงและอาการแสดงทางคลินิกของสุนัข และได้ให้ยากดภูมิเข้าเส้นเลือดในช่วงแรก โดยให้ยากดภูมิร่วมกัน2ตัว เนื่องจากสุนัขอาเจียน มีตับอ่อนอักเสบแทรก และมีภาวะเม็ดเลือดโดนทำลายอย่างหนัก ในช่วงแรกของการแอดมิทนอกจากค่าเม็ดเลือดแดงที่ต่ำแล้ว สุนัขยังมีอาการปัสสาวะเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นภาวะที่ตามมาจากเม็ดเลือดถูกทำลาย
หลังจากได้รับยากดภูมิ และยาอื่นๆ ได้แก่ ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ ยาแก้อาเจียน ยาปฏิชีวนะ ยาป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน ยาแก้ปวด ยาบำรุงเลือด และแก้ไขภาวะอิเล็กโทรไลต์ผิดปกติแล้ว สุนัขมีอาการทางคลินิก ค่าเม็ดเลือดแดง และสีปัสสาวะที่ดีขึ้นตามลำดับ หลังจากแอดมิทจนอาการคงที่จึงสามารถกลับบ้านและนัดมาติดตามอาการ ทุกๆ 3-14วัน จนล่าสุด 24 มกราคม 2564 ตรวจภาวะการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดงเหลือ 0%
การเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง 0% ภายหลังการรักษา
สุนัขสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ การรักษาครั้งนี้นอกจากทีมหมอจะช่วยเหลือแล้วจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากขาดเจ้าของที่มีความเอาใจใส่ เจ้าของแกงส้มมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในกรณีของแกงส้ม เจ้าของสังเกตอาการและพบความผิดปกติแต่แรกจึงพามาโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งหากแกงส้มไม่ได้รับการรักษา ภาวะโรคนี้สามารถทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการปฏิบัติ การป้อนยาก่อนและหลังอาหารตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญคือการมาติดตามอาการทุกครั้งที่หมอนัด จึงทำให้แกงส้มอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แกงส้ม และเจ้าของในวันนัดติดตามอาการ
บทความโดย
สพ.ญ. ภัทรสุดา เจษฎาพรชัย (หมอติ๊ด)
โรงพยาบาลสัตว์ สัตวแพทย์ 4 ( 24 ชั่วโมง )
Tel : 02-953-8085-6
Line : http://line.me/ti/p/~@vet4
Website : www.vet4hospital.com
Map : https://goo.gl/maps/h5xR4waakFD2