อาการหอบของสุนัขเกิดจากอะไรได้บ้าง

อาการหอบของสุนัขเกิดจากอะไรได้บ้าง

 

อาการหอบในสุนัขแบ่งได้เป็น

  1. อาการหอบปกติ ซึ่งมักเกิดขึ้นเพื่อระบายความร้อน หลังจากการออกกำลังกายมา หากเราได้ให้สุนัขหยุดพักผ่อนสักครู่ สุนัขก็จะกลับมาหายใจได้ในจังหวะที่ปกติตามเดิม 
  2. อาการหอบผิดปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ โรคหัวใจหรือโรคปอด ภาวะฮีทสโตรก ภาวะเลือดจางความเครียดและความวิตกกังวล หรือ ภาวะเจ็บปวด

     

     


     

    โรคหัวใจและปอด


         สุนัขที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือโรคปอด มักมีอาการหอบ เหนื่อยง่าย และหายใจลำบาก แม้จะเป็นในขณะพักผ่อนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย  บางครั้งมีอาการไอร่วมด้วย  มักพบได้ในเวลากลางคืนหรือตอนเช้า เกิดจากการที่หัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะต่าง ๆไม่ดี และอาจมีภาวะน้ำท่วมปอด 
    ทำให้การแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนไม่ดี ร่างกายจึงต้องปรับตัว โดยการเพิ่มความถี่ของการหายใจมากขึ้น สุนัขจึงแสดงอาการหอบให้เราได้เห็น 

     

    ภาวะฮีทสโตรก


         ภาวะฮีทสโตรกเป็นปัญหาที่พบบ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์หน้าสั้น สุนัขที่อ้วนมากๆ 
    เมื่อสุนัขต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรือไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ก็จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมาก จนเกิดภาวะฮีทสโตรกขึ้นได้ สุนัขจะตอบสนองและระบายความร้อนออกมาด้วยการหอบ  โดยจะการหายใจเร็วและถี่มากขึ้น มีน้ำลายไหลยืดมากผิดปกติ อาจถึงขั้นหมดสติ

     

    ภาวะเลือดจาง

     

          ภาวะเลือดจาง คือ ภาวะที่มีการลดลงของเม็ดเลือดแดง  เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อเกิดภาวะโลหิตจาง ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะกระตุ้นให้สุนัขหายใจเร็วและหอบมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดนำพาออกซิเจนมาส่งตามส่วนต่างๆของร่างกาย

     

    ความเครียดและความวิตกกังวล


         สุนัขที่เกิดความเครียด ส่วนใหญ่ได้รับแรงกระตุ้นมาจากสิ่งแวดล้อม จนทำให้รู้สึกไม่สบายใจและไม่สบายตัว และมักจะตอบสนองด้วยการหายใจเร็วและถี่ขึ้นหรือหอบ เราเรียกว่า “
    Behavioral panting”   อาจเกิดได้เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่กลัว หรือมีประสบการณ์ที่ไม่ดีมา สุนัขจะมีอาการสั่นกลัว หลบซ่อน หายใจหอบ น้ำลายไหลยืด หรือ อุจจาระ/ปัสสาวะราด

     

    ความเจ็บปวด

         เมื่อสุนัขเจ็บปวด มักจะแสดงอาการหอบ เวลาเจ็บปวดร่างกายจะเร่งการทำงานของระบบประสาทซิมพาเธติก ให้หลั่งอิพิเนฟรินเพิ่มขึ้น มีผลทำให้มีการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น อาจจะร้องปวด และอาจหันกลับมางับเราได้ หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น  ก้าวร้าวขึ้น ขู่




    ย้อนกลับ