ข่าวสาร

เกรดอาหารสัตว์เลี้ยง แต่ละเกรดต่างกันอย่างไรบ้าง? และ มีผลต่อการทำงานของหัวใจอย่างไร?



อาหารสัตว์แต่ละเกรด ต่างกันอย่างไร

อาหารสัตว์เกรดมาตรฐาน (Economic Grade หรือ Standard Grade)

เป็นเกรดที่พบได้บ่อย ราคาไม่แพง วางขายอยู่ทั่วไป หาซื้อง่าย ผลิตโดยโรงงานที่มีมาตรฐานและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ วัตถุดิบที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากผลพลอยได้จากสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น เศษเนื้อไก่, เศษเนื้อวัว, กระดูก, เครื่องใน, ขน, หงอน เป็นต้น ซึ่งไม่ได้เป็นเนื้อสัตว์ล้วนๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของธัญพืชอื่นๆ เช่น ข้าวโพด, ข้าวสาลี, ข้าวเจ้า, ถั่วเหลือง เป็นต้น  และอาจมีการเสริมวิตามิน แร่ธาตุ กรดอะมิโน เอนไซม์ สารถนอมคุณภาพอาหารสัตว์ สารแต่งกลิ่น-รส สารให้สี ฯลฯ ลงไปเพื่อเพิ่มให้อาหารมีคุณภาพที่ดีขึ้น 


อาหารสัตว์เกรดพรีเมี่ยม (Premium Grade)

เกรดนี้จะมีการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพสูงกว่าเกรดมาตรฐาน ทำให้มีราคาสูงกว่า แต่ก็ยังพบการนำเอาพืชจำพวกข้าวโพด ข้าวสาลี และผลพลอยได้จากสัตว์มาใช้เป็นส่วนผสมอยู่บ้าง บางแบรนด์ยังมีส่วนประกอบของโซเดียมอยู่ แต่ก็นับว่าน้อยกว่า Standard Grade  มีการแยกออกมาเป็นสูตร ที่เหมาะสำหรับสัตว์เลี้ยงแบบต่าง ๆ เช่น สูตรสำหรับสัตว์เลี้ยงระบบปิด (Indoor) สูตรกำจัดก้อนขน (Hair ball) สูตรสำหรับสัตว์เป็นโรคไต หรือสูตรบำรุงขน สูตรดูแลระบบย่อยอาหาร สูตรสำหรับแมวทำหมัน สูตรสำหรับดูแลสุขภาพทางเดินปัสสาวะ สูตรสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงวัย เป็นต้น


อาหารสัตว์เกรดซุปเปอร์พรีเมี่ยม (Super Premium Grade)

วัตถุดิบที่ใช้จะมีคุณภาพดีกว่าเกรด Premium เล็กน้อย ซึ่งจะไม่ใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการเกษตร เนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาใช้ คือ เนื้อไก่มาเป็นส่วนผสมหลัก นอกจากนี้ มีการใช้แร่ธาตุที่สังเคราะห์แล้วทำให้ดูดซึมง่ายและเพิ่มกรดไขมันที่ดี เพื่อช่วยให้สุขภาพสัตว์เลี้ยงของเราแข็งแรงจึงลดโอกาสในการเจ็บป่วย


อาหารสัตว์เกรดโฮลิสติก (Holistic Grade)

ปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะดีต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยงในระยะยาว แต่ก็มีราคาที่แพงขึ้นมาพอสมควร เพราะเป็นอาหารที่ใช้วัตถุดิบคุณภาพเดียวกับอาหารคน  คือ เป็นอาหารธรรมชาติ ไร้สารเคมี 100% มีการวิเคราะห์สารอาหารที่จำเป็นสำหรับสัตว์เลี้ยงอย่างละเอียด เช่น โปรตีนจากเนื้อไก่ แกะ ปลาเเซลมอน และเนื้อเป็ด ฯลฯ ซึ่งเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีไขมันต่ำ ไม่ใส่วัตถุกันเสียที่ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการแพ้ ที่มีผลข้างเคียงทำให้ขนร่วงหรือท้องเสีย มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าแบบ Premium และ Super Premium เนื่องจากเป็นอาหารปลอดสารเคมี มีกรดอะมิโน ไขมันดี วิตามิน น้ำมันตับปลา แร่ธาตุ โพรไบโอติกส์ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกคัดสรรมาอย่างดีเพื่อให้ตรงกับ ความต้องการของสัตว์เลี้ยงมากที่สุด


อาหารสัตว์เกรดอัลตร้าโฮลิสติก (Ultra Holistic Grade)

จะมีความใกล้เคียงกับเกรดโฮลิสติก แต่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพดีกว่า มีสัดส่วนโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูง ไม่ใช้ผลพลอยได้จากสัตว์และธัญพืชเป็นส่วนผสม มีวัตถุดิบส่วนที่คัดมาแล้วว่า มีคุณค่ามากที่สุด 


อาหารสัตว์เกรดเกรนฟรี (Grain Free)

เป็นเกรดที่พัฒนาต่อยอดมาอีกขั้นหนึ่ง โดยจะยังคงใช้ส่วนผสมที่เป็นวัตถุดิบคุณภาพเดียวกับอาหารคน ไม่มีส่วนผสมของธัญพืช 100% ส่วนใหญ่อาหารเกรดนี้ จะใช้ถั่วและมันฝรั่งเป็นหลัก เพื่อป้องกันปัญหาด้านการย่อย แพ้อาหาร หรือปัญหาอื่น ๆ เน้นส่วนผสมที่มีโปรตีนและไขมันเยอะ เสริมด้วยผักผลไม้เพื่อเป็นกากใยช่วยให้ระบบขับถ่าย แทนใยอาหารจากธัญพืช อาหารเกรดนี้จึงเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง ทำให้มีราคาสูงที่สุดในบรรดาอาหารสัตว์ทุกเกรดในท้องตลาด


อาหารสัตว์เลี้ยงแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด

ในช่วงกรกฏาคม ปี ​​2018 สมาคมอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (American Food and Drug Administration, FDA) รายงานว่า อาหารเม็ดสุนัขโดยเฉพาะที่ปราศจากธัญพืชนั้น มีความสัมพันธ์กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขยายใหญ่ผิดปกติ (Dilated Cardiomyopathy, DCM) ในสุนัข พบการเกิดร่วมกันมากขึ้นในพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สายพันธุ์โน้มนำของโรคดังกล่าวด้วย (สายพันธุ์โน้มนำของโรค ได้แก่ Great Danes, Boxers หรือ Doberman pinschers เป็นต้น) ซึ่งเมื่อตามข้อมูลย้อนหลังดูจะมีความเชื่อมโยงกับชนิดของอาหารที่สัตว์ป่วยกิน ถึงแม้ว่าจะยังต้องการทำการวิจัยและตรวจสอบเพิ่มเติม แต่ก็ทําให้เกิดความโกลาหลในหมู่เจ้าของสัตว์เลี้ยง และร้านขายสัตว์เลี้ยง

ความแตกต่างที่สําคัญระหว่างอาหารสัตว์เลี้ยง grain-free และอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีส่วนผสมของธัญพืช คือส่วนผสมของอาหารสัตว์เลี้ยงที่ปราศจากธัญพืชส่วนใหญ่ประกอบด้วย มันเทศ มันฝรั่ง พืชตระกูลถั่วที่มีทั้งถั่วลูกไก่ และถั่วเลนทิล โดยเทรนด์นี้มาจากทฤษฎีที่ว่า "สุนัขเป็นสัตว์กินเนื้อ เพราะงั้นพวกเขาไม่ควรได้รับคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืช" อย่างไรก็ตาม อาหารสัตว์เลี้ยงที่ปราศจากธัญพืช ได้ผ่านการตรวจสอบจาก Food and Drug Administration  (FDA) ซึ่งอาจตั้งสมมติฐานได้ว่า พืชตระกูลถั่วถูกใช้เพื่อช่วยเสริมปริมาณโปรตีนทั้งหมด แต่ยังคงขาดปริมาณกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อสัตว์ และนอกจากนั้นพืชตระกูลถั่วอาจมีสารต้านโภชนาการ หรือแอนติเจนบางอย่างที่ขัดขวางต่อการดูดซึมสารอาหารของสุนัข ส่วนการขาดกรดอะมิโน "ทอรีน" จะขึ้นอยู่กับความแตกต่างของสายพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นอาการของ DCM อีกด้วย ดังนั้นความสัมพันธ์ของอาหารสุนัขจากพืชตระกูลถั่วที่ปราศจากธัญพืช กับสุนัขที่เป็น DCM นั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมในอนาคต

ย้อนกลับ